การเงิน
พูดถึงเงินๆทองๆ จะมีสิ่งที่น่าสนใจซึ่งเป็นหลักอยู่ 4 อย่าง
- รายรับ
- สภาพคล่อง
- กำไร
- ต้นทุน
1.รายรับ
รายรับของคลินิกมาจากการให้บริการทำฟัน และขายอุปกรณ์เสริม เช่น แปรงสีฟัน ยาสีฟัน ฯลฯ
รายรับหลักจะขึ้นอยู่กับจำนวนผู้มาใช้บริการ และ ค่าทำฟันที่เก็บได้ซึ่งจะมากน้อยขึ้นอยู่กับราคาที่ตั้ง
การทำให้มีรายรับเยอะจึงมีสองแนวทางเท่านั้น คือ ให้บริการคนไข้จำนวนเยอะๆโดยที่ตั้งราคาทำฟันไว้ต่ำ หรือตั้งราคาไว้สูงสักหน่อย แล้วบริการในจำนวนที่ไม่เยอะมาก จะเลือกแนวทางใด หรือ ผสมผสานยังไง ก็สุดแล้วแต่แนวทางการตลาดของใครของมัน
รายรับจะสัมพันธ์กับการตลาด เพราะฉะนั้นคลินิกในช่วง Startup จะต้องทำการบ้านเรื่องการตลาดหนักหน่อย ถ้าจะหวังรายรับให้เติบโตในช่วงแรก
2.สภาพคล่องทางการเงิน
สภาพคล่อง อาจเรียกง่ายๆว่า เงินสดติดมือ
คือเงินสดที่เรามีอยู่ ณ เวลานี้
เงินสด จะต้องนำเอามาจ่ายค่าใช้จ่ายทุกๆอย่าง ทั้งเงินเดือนพนักงาน ค่าแรงคุณหมอ และวัสดุอุปกรณ์ ถ้าเรามีเงินสดติดมือเยอะ ก็มีความเสี่ยงที่ธุรกิจจะเจ๊งก็น้อยตาม
เพราะเงินคือสิ่งที่ต้องบริหาร หลายครั้งผู้บริหารคลินิกมือใหม่เกิดอาการ “หมุนเงินไม่ทัน” หรือ ที่เรียกว่า “ขาดสภาพคล่องทางการเงิน” พอขาด สิ่งที่เกิดคือ ผู้บริหารมักจ่ายเงินเดือนลูกน้องช้า จ่ายค่าแรงคุณหมอช้า หรือ ติดค้างการผ่อนชำระอุปกรณ์การแพทย์ต่างๆ ซึ่งส่งผลเสียต่อความมั่นใจของพนักงานและมือปืน ถ้าเป็นบ่อยๆ ส่วนใหญ่ลูกน้องมักจะตัดสินใจลาออก
เพราะฉะนั้น ต้องคำนวนให้แม่น ว่ารายรับเราน่าจะประมานเท่าไหร่ รายจ่ายเราที่ชัดเจนมีอะไรบ้าง และควรจะมีเงินสดเผื่อค่าใช้จ่ายบางอย่างที่เกินความคาดหมาย (อุบัติเหตุ ต้องซ่อมอะไรที่มีราคาแพง หรือ รายรับไม่ได้เป็นไปตามเป้าประมานการณ์)
และที่สำคัญ อย่าเอาค่าใช้จ่ายส่วนตัวมาปะปนกับคลินิก เช่น ซื้อคอนโดเพื่อเก็งกำไร ซื้อที่ดิน ลงทุนในหุ้น เพราะเมื่อเอาเงินสดหมุนเวียนที่เลี้ยงค่าใช้จ่ายต่างๆในคลินิกไปใช้และไม่สามารถเอาไปคืน ก็จะเกิดปัญหาขาดสภาพคล่องดังที่กล่าวมา ผมมักได้ยินบ่อยถึงเรื่องราวของการเอาเงินคลินิกมาปะปนกับคลินิกส่วนตัว พอมีปัญหาก็ไม่สามารถจ่ายค่าแรงมือปืน ทำให้มือปืนต้องมีซวยเกิดลำบากตาม เพราะตนเองก็มีค่าใช้จ่ายต่างๆมากมายเช่นกัน บางคนติดค่าแรงคุณหมอ นานถึง 2 เดือนจนเกิดการฟ้องร้องกันก็มีมาแล้ว วินัยทางการเงินจึงเป็นเรื่องที่สำคัญและกระทบกับคนหลายฝ่าย
3.กำไร
กำไร คือ เงินที่เหลือหลังจากหักค่าใช้จ่ายทุกอย่างออกไปแล้ว หน้าที่ของคลินิก คือจะต้องบริหารรายรับ รายจ่าย และ สภาพคล่องไว้ และให้มีเงินเป็นกำไรให้ได้
กำไร อาจเกิดจากการทำรายรับให้สูง เพื่อเอาชนะค่าใช้จ่าย หรือ ลดค่าใช้จ่าย ลดต้นทุนให้ต่ำ
การมีรายรับสูงจึงไม่ได้แปลว่าจะต้องมีกำไรเสมอไป ตรงกันข้าม ถ้าแม้รายรับเราจะไม่สูงมากนักแต่เราสามารถควบคุมต้นทุนไว้ได้ดีแล้วมีกำไร อาจจะยังดีกว่าการพยายามสร้างแต่รายรับแต่ไม่ควบคุมต้นทุน
4.ต้นทุน
ต้นทุนมีหลายอย่าง คือ ต้นทุนตั้งแต่เริ่มกิจการ ที่เป็นค่าวัสดุอุปกรณ์และค่าตกแต่งทั้งหลาย เมื่อเปิดคลินิกไปแล้วเราก็จะมีค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนทุกๆเดือนอีก คือ ค่าเช่าที่ เงินเดือนพนักงาน ฯลฯ ธุรกิจขนาดเล็กส่วนใหญ่มักพลาดเรื่องการคำนวณต้นทุน เพราะหลายครั้งมันคำนวณยาก เช่น คอมโพสิต และบอนดิ้งที่ใช้ในแต่ละเคส เป็นต้น คำเตือนคือ ถ้าคลินิกเป็นคลินิกที่เน้นขายถูก ค่าบริการต่ำ จะต้องคำนวณต้นทุนให้แม่น เพราะไม่เช่นนั้น สุดท้าย อาจทำธุรกิจแบบไม่มีกำไร
ภาษี
ภาษีเป็นเรื่องที่ผมเพียงแต่รู้ในระดับประชาชนทั่วไปที่ยื่นภาษี แต่ไม่รู้ลึกมาก จึงต้องขอออกตัวไว้ก่อน
ภาษีส่วนบุคคล
ภาษี ความรับผิดชอบทางการเงินของผู้ประกอบวิชาชีพตามกฎหมาย ผมได้เก็บไฟล์บทความในนิตยสารของทันตแพทย์สภาซึ่งเป็นไฟล์ที่วงการทันตกรรมส่งแชร์กันใน Line มาเก็บไว้ให้ศึกษากัน ตามลิ้ง การเสียภาษีสำหรับหมอฟัน
คำถามยอดฮิต
แล้วคลินิกควรจะเป็นบริษัท หรือ ส่วนบุคคลดี ??
การที่เราจะเลือกให้คลินิกเป็นแบบใด มันขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการเสียภาษีในรูปแบบใด การเสียภาษีทั้งสองแบบมีข้อดีข้อเสียต่างกัน เช่น กรณีที่คลินิกมีรายรับหลักล้านบาทต่อเดือนขึ้นไป การเสียภาษีในรูปแบบของบริษัทจะประหยัดภาษีได้มากกว่า
กรณีจัดตั้งเป็นบริษัทจะเหมาะมากกรณีที่มีหุ้นส่วนหลายคน ที่ต้องแสดงความโปร่งใส และแสดงความชัดเจนถึงจำนวนหุ้น ภาระความรับผิดชอบและส่วนแบ่ง
และข้อดีที่สุดของบริษัท คือสามารถเอารายจ่ายหลายรายการใช้มาลดหย่อยภาษีได้ เช่น เงินเดือนของพนักงานและค่าแรงคุณหมอ ค่าอบรมพนักงาน ค่าซ่อมอุปกรณ์การแพทย์ต่างๆ
แต่ไม่ใช่ว่าส่วนบุคคลจะมีแต่ข้อเสียนะครับ ส่วนบุคคลมีข้อดีคือ ไม่ต้องทำบัญชีส่งสรรพากร (เขาถึงเรียกส่วนบุคคลว่าการจ่ายภาษีแบบเหมา แต่คุณจะเลือกจ่ายตามจริงก็ได้แต่จะต้องยื่นบัญชีนะครับ)
ข้อแนะนำ
สำหรับภาษี ผมอยากแนะนำให้เสียเวลาศึกษาจริงจัง ไปเข้าอบรมเลยดีที่สุด เพราะมันมีอัพเดท เพิ่มเติมและยกเลิกต่อเนื่องเกือบทุกเดือน คืออัพเดทชนิดที่ว่ากันว่าเจ้าหน้าที่ในสรรพากรยังตามไม่ค่อยจะทันเลย คอร์สอบรมด้านภาษีมีเยอะแยะมากมายในยุคนี้ ลอง search ดูได้ หรือในส่วนของผมเองก็มีสอนหัวข้อนี้เป็นครั้งคราว ติดตามได้ในเพจ ธุรกิจทันตกรรม นะครับ